วันพุธที่ 17 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

ลักษณะเฉพาะของคำประพันธ์แต่ละประเภท (๔) (กลอนเจ็ด, แปด, เก้า)

 ๒.๑.๒ กลอนเจ็ด

แผนผัง คำประพันธ์ประเภทกลอนเจ็ด จำนวน ๑ บท






ตัวอย่าง บทประพันธ์ประเภทกลอนเจ็ด จำนวน ๑ บท

          "กลอนเจ็ดจำแบบว่าหนึ่งบท   กำหนดสี่วรรคจักสร้างสรรค์

หนึ่งวรรคเจ็ดคำจึงรำพัน                   ครบครันกลอนเจ็ดสำเร็จดี"

                                                              (ขัณธ์ชัย อธิเกียรติ)

ฉันทลักษณ์

๑. คณะ - ๑ บท มี ๔ วรรค หรือ ๒ บาท หรือ ๒ คำกลอน, ๑ บาทมี ๔ วรรค วรรคละ ๗ คำ

๒. สัมผัส - คำสุดท้ายของวรรคแรก สัมผัสกับคำที่สองหรือคำที่สามหรือคำที่สี่หรือ

คำที่ห้าของวรรคที่ ๒, คำสุดท้ายของวรรคที่ ๒ สัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคที่ ๓ 

คำสุดท้ายของวรรคที่ ๓ สัมผัสกับคำที่สองหรือคำที่สามหรือคำที่สี่หรือคำที่ห้าของวรรคที่ ๔

สัมผัสระหว่างบท - คำสุดท้ายของบทต้นสัมผัสกับกับคำสุดท้ายของวรรคที่ ๒ ของบทถัดไป


๒.๑.๓ กลอนแปด

แผนผัง คำประพันธ์ประเภทกลอนแปด จำนวน ๑ บท




ตัวอย่าง คำประพันธ์ประเภทกลอนแปด จำนวน ๒ บท

            "กลอนสุภาพแปดคำประจำบ่อน        อ่านสามตอนทุกวรรคประจักษ์แถลง

    ตอนต้นสามตอนสองสองแสดง                 ตอนสามแจ้งสามคำครบจำนวน

    กำหนดบทระยะกะสัมผัส                          ให้ฟาดพัดชัดความดามกระสวน

    วางจังหวะกะทำนองต้องกระบวน               จึงจะชวนฟังเสนาะเพราะจับใจ"

                                                   (ประชุมสำนำ, หลวงธรรมาภิมณฑ์ จิตรกถึก)

ฉันทลักษณ์

๑. คณะ - ๑ บท มี ๔ วรรค หรือ ๒ บาท หรือ ๒ คำกลอน, ๑ บาทมี ๒ วรรค วรรคละ ๘ คำ

๒. สัมผัส - คำสุดท้ายของวรรคแรก สัมผัสกับคำที่สามหรือคำที่ห้าของวรรคที่ ๒,

คำสุดท้ายของวรรคที่ ๒ สัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคที่ ๓ คำสุดท้ายของวรรคที่ ๓ สัมผัส

กับคำที่สามหรือคำที่ห้าของวรรคที่ ๔

สัมผัสระหว่างบท - คำสุดท้ายของบทต้นสัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคที่สองของบทถัดไป


๒.๑.๔ กลอนเก้า

แผนผัง คำประพันธ์ประเภทกลอนเก้า จำนวน ๑ บท




ตัวอย่าง คำประพันธ์ประเภทกลอนเก้า จำนวน ๑ บท

           "เขาว่าเรา เราอย่าโกรธ ลงโทษเขา     ในเมื่อเรา ไม่ได้เป็น อย่างเขาว่า

      หากว่าเรา นั้นเป็นจริง ดั่งวาจา                  เมื่อเขาว่า อย่าโกรธเขา เราเป็นจริง"

                                                                                        (สำนวนเก่า)

ฉันทลักษณ์

๑. คณะ - ๑ บท มี ๔ วรรค หรือ ๒ บาท หรือ ๒ คำกลอน, ๑ บาทมี ๒ วรรค วรรคละ ๙ คำ

๒. สัมผัส - คำสุดท้ายของวรรคแรก สัมผัสกับคำที่สามหรือคำที่หกของวรรคที่ ๒

    คำสุดท้ายของวรรคที่ ๒ สัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคที่ ๓ คำสุดท้ายของวรรคที่ ๓ สัมผัส

     กับคำที่สามหรือคำที่หกของวรรคที่ ๔

สัมผัสระหว่างบท - คำสุดท้ายของบทต้นสัมผัสกับคำสุดท้ายของวรรคที่สองของบทถัดไป

*หมายเหตุ กลอนสุภาพจะใช้กลอนแปดเป็นส่วนใหญ่ โดยบางวรรคอาจมี ๗ คำ หรือ ๙ คำบ้างก็ได้.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น