วันพุธที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

วรรณคดีจีน (สามก๊ก)

         วลีที่ว่า "ใครอ่านสามก๊กจบสามรอบคบไม่ได้"

ถ้าเป็นความจริง ตนเองยิ่ง "คบไม่ได้"

เพราะวรรณกรรมจีนสามก๊กนั้น ตัวเองอ่านมาตั้งแต่วัยรุ่น

เริ่มจาก สามก๊กฉบับพระยาพระคลัง (หน) เป็นหนังสือที่มีความหนาพอสมควร


               ภาษาแอบโบราณแต่ก็อ่านง่าย ไม่ได้อ่านจบง่ายในครั้งเดียว ทะยอยอ่าน เวลาว่างก็หยิบมาอ่านที เอาไว้แก้เบื่อในยามว่างเท่านั้น

               หลังจากนั้นก็ได้อ่าน สามก๊กฉบับ เล่าชวนหัว (อาจารย์สุขสันต์  วิเวกเมธากร) เปิดหน้ากากขงเบ้ง เล่ม 1-3, ชำแหละกึ๋นเล่าปี่, ผ่าสมองโจโฉ, แหวะหัวใจซุนกวน, ล้วงคอสุมาอี้, เทิดศักดิ์ศรีจูล่ง และ ลอยเรือชม จิวยี่


              อันนี้อ่านง่าย มีเสียดสีบ้าง ชวนให้คิดอยู่เหมือนกัน มีแง่มุมอื่นที่คิดไม่ถึง ก็ถือว่าสนุกดี

              แล้วก็มีโอกาสได้อ่านสามก๊ก ฉบับ วรรณไว พัธโนทัย ซึ่งอ่านง่ายกว่า ฉบับของพระยาพระคลัง (หน)  

              ในขณะนั้นก็มีรายการโทรทัศน์ สามก๊ก ฉบับนักบริหาร ของ อ.เจริญ วรรธนะสิน ฉายเป็นตอน ๆ อธิบายสามก๊ก (1994) ในแง่มุมของนักบริหาร แต่ส่วนตัวไม่ได้สนใจแง่มุมนี้มากนักเพราะถือว่าตอนนั้นยังเด็ก และเป็นเรื่องไกลตัว ในส่วนที่เป็นหนังสือก็ไม่ได้อ่าน ไปร้านหนังสือได้แต่เปิดดูเพราะหลายเล่มและราคาแพง
                    แล้วยังมีพ็อกเก็ตบุ๊คเล่มเล็ก ๆ ที่แถมมากับหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ แยกขุนศึก กุนซือ เป็นเรื่อง ๆ เป็นเกร็ด อีก ซึ่งจำหน้าตาของหนังสือไม่ได้เสียแล้ว

                    ส่วนละครโทรทัศน์ก็ได้ดู สามก๊ก (1994) ที่ถือว่าคัดเลือกนักแสดงได้สมกับบทบาทดี ซีนที่ชอบคือ ขงเบ้งโต้วิวาทะกับปราชญ์กังตั๋ง ตอนสงครามลิ้น สนุกและคมคายดี ไม่ว่าเวอร์ชั่นไหนก็ทำได้ไม่ถึงเทียบเท่าเวอร์ชั่น 1994 นี้


                     แม้จะโดนปราชญ์กังตั๋งหลายคนรุม แต่ขงเบ้งก็โต้คารมได้ดีด้วยปัญญา คนที่มารุมวิพากษ์ด้วยเจตนาไม่ดี ย่อมพ่ายแพ้ต่อหลักการและเหตุผลที่ดี

                     ยังมีการสร้างภาพยนตร์เกี่ยวข้องกับสามก๊ก มากมายหลายเรื่อง ก็มีโอกาสได้ดูตลอดเพื่อความบันเทิง

                     สำหรับการฟังเป็นเสียงเพียงอย่างเดียวก็ได้ฟัง สามก๊ก ฉบับคนขายชาติ โดย เรื่องวิทยาคม ซึ่งเป็นสามก๊กฉบับที่ชอบที่สุด เพราะเรียบเรียงได้ดี สอดแทรกและเทียบเคียงกับสถานการณ์ทางการเมืองไทยช่วงหนึ่ง เปิดฟังไปเขียนการ์ตูนไป สมาธิอยู่กับการเขียนส่วนหูอยู่กับเรื่องราวในสามก๊ก จนได้มีโอกาสได้เขียนภาพประกอบหนังสือสามก๊ก ตอนโจโฉแตกทัพเรือ เรียบเรียงโดย เจ้าหยุ่น (สำนักพิมพ์สยามอินเตอร์คอมิคส์) ซึ่งออกมาหลังจาก ภาพยนตร์สามก๊กของ จอห์น วู ศึกผาแดง
                            

                        ก็วาดโดยได้อิทธิพลจากภาพยนตร์ ต้องอ่านหนังสือต้นฉบับ และกลับไปอ่านเวอร์ชั่นอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับศึกผาแดง อีกรอบ รวมถึงหาข้อมูลการแต่งกายของตัวละครต่าง ๆ โดยบรรณาธิการต้องการให้เป็นภาพที่คล้าย ๆ มีเส้นที่เป็นเหมือนวาดด้วยพู่กัน ก็จำเป็นต้องทดลองใช้พู่กันวาดในส่วนที่ต้องเป็นเส้นหนา ก็ต้องปรับพอสมควรเพราะวาดโดยใช้ปากกาเคมีหัวเล็ก ๆ มาตลอด 

                        ก็จำไม่ได้แล้วว่าอ่าน ดู ฟัง สามก๊ก ไปกี่รอบ กี่จบ นับไม่ถ้วน คบได้ไม่ได้ก็แล้วแต่จะคิด ในนิยายจีนมักจะมีเรื่องคุณธรรมน้ำมิตร แต่ในสามก๊กอยู่ในช่วงศึกสงคราม มีแต่กลยุทธ์ แผนการ เพื่อช่วงชิงชัยชนะในการศึก หาคุณธรรมได้ยาก 

                        ที่พอจะหยิบยกมาได้บ้างก็เช่น กวนอูปล่อยโจโฉ ในศึกผาแดง เพื่อแทนคุณโจโฉที่เคยดูแลยามยากและยกม้าเซ็กเธาว์ให้ บุญคุณต้องทดแทน แค้นต้องชำระชัดเจนดี

                        แม้แต่คำสาบานที่สวนดอกท้อ ก็ยึดถือต่อกันจนวาระสุดท้าย

                        การคบหากันก็สมควรมีเรื่องคุณธรรมน้ำมิตรด้วย เพราะเพียงแค่จะหาผู้คนเพื่อดื่มกินนั้นหาง่ายแต่จะหาผู้ที่ให้หัวจิตหัวใจด้วยความจริงใจนั้นหาได้ยาก
                     
                        เราอาจจะค้นพบหัวใจของผู้คนได้ในยามยาก แยกมิตรและศัตรูได้ แต่กระนั้นแม้นไม่มีมิตรสักคน คงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น