วันพุธที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2566

ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการประพันธ์

ความหมายของคำประพันธ์

ประพันธ์ 

หมายถึง แต่ง, เรียบเรียง, ร้อยกรอง, ผูกถ้อยคำข้อความเชิงวรรณคดี (ราชบัณฑิตยสถาน, 2542)


คำประพันธ์

หมายถึง ถ้อยคำที่เรียบเรียงกัน โดยมีข้อบังคับจำกัดคำ และวรรคตอนให้รับสัมผัสกันไพเราะ (เปลื้อง ณ นคร ในชุมนุมภาษาไทย คุรุสภา, 2518)


บทประพันธ์

หมายถึง เรื่องที่แต่งขึ้นเป็นร้อยแก้วหรือร้อยกรอง (ราชบัณฑิตยสถาน, 2542)


บทประพันธ์

หมายถึง เรื่องที่สร้างสรรค์ขึ้นจากความรู้สึกนึกคิดหรือจินตนาการของมนุษย์ (วาสนา บุญสม,2540)


จากความหมายดังกล่าว คำว่า ประพันธ์ จึงเกี่ยวข้องกับคำว่า ร้อยแก้ว และร้อยกรอง ซึ่งมีความหมายดังนี้


ร้อยแก้ว

หมายถึง ความเรียงที่สละสลวยไพเราะเหมาะเจาะด้วยเสียงและความหมาย (ราชบัณฑิตยสถาน, 2542)


ร้อยกรอง

หมายถึง คำประพันธ์, ถ้อยคำที่เรียบเรียงให้เป็นระเบียบตามบัญญัติแห่งฉันทลักษณ์ (ราชบัณฑิตยสถาน, 2542)


ร้อยกรอง

หมายถึง คำประพันธ์ที่เรียบเรียงให้เป็นระเบียบตามบัญญัติแห่งฉันทลักษณ์ (ข้อบังคับสำหรับแต่งประพันธ์) โดยเน้นจังหวะของเสียงซึ่งเกิดจากการกำหนดจำนวนพยางค์ (ในคำประพันธ์เรียกว่า คำ ) เป็นวรรค เป็นบาท หรือเป็นบท การสลับน้ำหนักของเสียงหนักเบา (เรียกว่า ครุลหุ)

การกำหนดเสียงโดยบังคับเสียงวรรณยุกต์ การผูกคำคล้องจอง เรียกว่าสัมผัส เป็นต้น (กระทรวงศึกษาธิการ, 2548)


คำว่า ร้อยกรอง นี้เทียบเป็นภาษาอังกฤษว่า Poetry หมายถึง คำประพันธ์ขั้นสูงที่เพ่งเล็งความถูกต้องทางฉันทลักษณ์และมีความไพเราะสละสลวยด้วยเสียง คำ และความหมาย 

ถ้าเป็นร้อยกรองขั้นรองลงมา เทียบกับคำว่า Verse หมายถึง บทกลอนซึ่งมีความถูกต้องทางฉันทลักษณ์ แต่มีขนาดสั้นและอาจไม่สละสลวยนัก


คำประพันธ์ จึงหมายถึง ร้อยกรอง ซึ่งเป็นถ้อยคำที่แต่งขึ้นมาโดยมีถ้อยคำบังคับ ที่เรียกว่าฉันทลักษณ์ นั่นเอง


นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายคำที่มีความหมายใกล้เคียงกัน ได้แก่ บทกานท์ กาพย์กลอน กวีนิพนธ์ กวีวัจน์ กลอน เป็นต้น 

แต่ในที่นี้จะใช้คำว่า คำประพันธ์ เพื่อหมายถึง ร้อยกรอง หรือถ้อยคำที่เรียบเรียงให้เป็นระเบียบตามบัญญัติแห่งฉันทลักษณ์ และใช้คำว่า บทประพันธ์ เพื่อหมายถึง เรื่องที่แต่งขึ้นเป็นร้อยกรองเท่านั้น.


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น